[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน : มิติใหม่ในการจัดการศึกษาด้านอาชีพของ กศน.

....การเรียนรู้ของมนุษย์มิได้จำกัดอยู่เพียงในรั้วโรงเรียนเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ย่อมต้องมีการเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ให้รอด ดังนั้น ระบบการศึกษาจึงถูกแบ่งเป็น 3 ระบบใหญ่ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งในการศึกษาทั้ง 3 ระบบนี้ ยังมีการแตกย่อยของสาขาวิทยาการไปอีกมากมาย ซึ่งการเรียนรู้เพื่อการอยู่รอดของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน หนีไม่พ้นเรื่องของปากท้อง ซึ่งถือเป็นความต้องการทางชีวภาพที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกหนีจากความหิวได้โดยไม่บริโภค...
 
          การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม รวมถึงเทคโนโลยี ทำให้กระทรวงศึกษาธิการซึ่งดูแลการเรียนรู้ของคนไทย ต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพแก่ประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ 2555 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดเป้าหมายความสำเร็จไว้ในปี 2558 คือ ความสงบสุข อยู่ดีกินดี มีงานทำ และมีความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมอบหมายให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน” เพื่อการมีอาชีพและการมีรายได้ของประชาชนเป็นหลักใหญ่ ภายใต้การดูแลด้านนโยบายจากคณะกรรมการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนระดับกระทรวง และในด้านปฏิบัติ มีคณะกรรมการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนระดับจังหวัดเป็นผู้ควบคุมการผลิต ให้การจัดการศึกษาด้านอาชีพแนวใหม่เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนผู้ว่างงานที่ประสงค์จะประกอบอาชีพและผู้ที่ต้องการพัฒนาอาชีพในชุมชน รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาในชุมชนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้มีความพร้อมที่จะสร้างหรือเพิ่มรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 345,000 คน ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสู่การมีอาชีพและการมีรายได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะส่งผลถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทยอย่างสง่างามอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมจากศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเทียบโอนความรู้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษาในสังกัด กศน.ได้ทั่วประเทศ
         
          แนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ในแต่ละหลักสูตรใช้ระยะเวลา 50-150 ชั่วโมง จาก 5 กลุ่มหลักสูตรวิชาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการบริการ สาระการเรียนรู้ของหลักสูตรประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ความรู้พื้นฐานในการประกอบอาชีพ เจตคติที่ดีในการประกอบอาชีพ ความรับผิดชอบ วินัยในการทำงานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนที่ 2 คือ ความรู้ความสามารถและทักษะในวิชาชีพ ในลักษณะหลักสูตรเบ็ดเสร็จ สามารถประกอบอาชีพได้ระหว่างเรียนจนกระทั่งจบหลักสูตร โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรกับการประกอบอาชีพต่าง ๆ จัดระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการส่งผ่านผู้เรียนแต่ละหลักสูตรแต่ละรุ่นเข้าสู่ตลาดแรงงานในท้องถิ่น ประเทศ และภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว วางระบบสนับสนุนการทำวิสาหกิจชุมชน หรือธุรกิจ เพื่อสร้างสังคมผู้ประกอบการ โดยการประสานแหล่งทุน สนับสนุนข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง และทั้งหมดนี้ คือ บทบาทในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตของสำนักงาน กศน. ผ่านการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กศน. ที่เน้นประโยชน์สุขสูงสุดอยู่ที่ประชาชนอย่างแท้จริง 


เข้าชม : 519
 
 
สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  จังหวัดลำพูน
ถนนลำพูน-ริมปิง ตำบลต้นธง  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูนโทรศัพท์ 0-5351-1295 

โทรสาร  0-5356-1255 
aramdilokrat_1@hotmail.com  pranee@lpn.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05  Update by   _SCRIPT2